เจาะลึก Thailand IX ยกระดับให้บริการอินเทอร์เน็ตแบบไม่ปิดกั้น เข้าถึง Content ชั้นนำได้อย่างรวดเร็ว
บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT ผู้ให้บริการโทรคมนาคมรายใหญ่ของไทยปรับกลยุทธ์ รองรับการแลกเปลี่ยนข้อมูล (Internet Exchange) ที่เติบโตอย่างก้าวกระโดดในยุคดิจิทัล และหลังวิกฤติโควิด 19 ที่ผู้บริโภคปรับการใช้ชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) เพื่อเว้นระยะห่างทางกายภาพ สู่ความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงผ่านโลกออนไลน์โดยพร้อมเชื่อมโยงคอนเทนต์ชั้นนำบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตผ่าน Thailand IX ก้าวสู่การเป็น ASEAN Digital Hub
คุณอุบลพรรณ ชื่นชม ผู้จัดการฝ่ายบริการหน่วยงานผู้ประกอบการ CAT กล่าวกับ ADSL Thailand เจาะลึกการให้บริการ Thailand IX แก่ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (Internet Service Provider) ซึ่งจะเป็นประโยชน์และสอดคล้องกับ lifestyle ของผู้บริโภคหรือผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตในแง่มุมต่าง ๆ
“อินเทอร์เน็ตเกตเวย์ในประเทศไทย มีการเชื่อมต่ออยู่ใน 2 ลักษณะ ได้แก่ 1. อินเทอร์เน็ตเกตเวย์ที่เชื่อมต่อกับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตในต่างประเทศ เรียกว่า International Internet Gateway (IIG) เพื่อเข้าถึงข้อมูลอินเทอร์เน็ตทั่วโลก และ 2. อินเทอร์เน็ตเกตเวย์ที่เชื่อมต่อกับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตในประเทศ เรียกว่า National Internet Gateway (NIX) จะเชื่อมโยงข้อมูลอินเทอร์เน็ตในประเทศทั้งหมดเข้าด้วยกัน ซึ่งก็คือ Thailand IX ในปัจจุบัน โดยนอกจากจะเชื่อมต่อเครือข่ายของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตในประเทศทั้งหมดแล้ว ยังมีการเชื่อมกับผู้ให้บริการคอนเทนต์ชั้นนำโดยตรง ทำให้การเข้าถึงข้อมูลของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตสามารถเข้าถึงคอนเทนต์ของตนเองได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ
Thailand IX กับการก้าวสู่ Digital Era ของภูมิภาค
Thailand IX จะเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนข้อมูลอินเทอร์เน็ต และคอนเทนต์ที่เข้ามาให้บริการอยู่ในประเทศไทย ที่จะทำให้เพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต ซึ่งเดิมจะต้องเชื่อมต่อไปยังต่างประเทศ แต่เมื่อแนวโน้มผู้ให้บริการแอปพลิเคชันและคอนเทนต์รายใหญ่เริ่มเข้ามาในไทยเพิ่มขึ้น ก็ไม่จำเป็นต้องไปเชื่อมต่อจากต่างประเทศ แต่เชื่อมต่อผ่าน Thailand IX เพียงจุดเดียวก็สามารถเชื่อมโยงการเข้าถึงข้อมูลอินเทอร์เน็ตที่อยู่ในไทยทั้งหมดได้อย่างมีประสิทธิภาพทั้งความเร็วและต้นทุนที่ลดลงอย่างมาก
ซึ่งในประเทศต่างๆ ก็มีการให้บริการ Internet Exchange เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลอินเทอร์เน็ตภายในประเทศระหว่างกันและกัน ทำให้ไม่ต้องดึงข้อมูลในระยะทางไกล อาทิเช่น การเชื่อมต่อไปยังสหรัฐอเมริกา หรือญี่ปุ่น ซึ่งเป็นต้นทางของแอปพลิเคชันและคอนเทนต์หลักเหมือนในอดีต แต่สามารถเชื่อมต่อจากจุดบริการใกล้ๆ เช่น Internet Exchange ที่ประเทศสิงคโปร์ หรือฮ่องกง ทำให้เข้าถึงคอนเทนต์ได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นอย่างมาก
ในอีกด้านหนึ่ง Thailand IX ยังเป็นตัวผลักดันธุรกิจคอนเทนต์ของไทยให้เติบโตในตลาดเพื่อนบ้านอย่างกลุ่มประเทศ CLMV คือ ประเทศ กัมพูชา ลาว สหภาพเมียนมาร์ และเวียดนาม ซึ่งมีความสนใจในคอนเทนต์ของไทยโดยเฉพาะคอนเทนต์ด้านสื่อและธุรกิจบันเทิง โดย Thailand IX ได้ทำให้คุณภาพการเข้าถึงคอนเทนต์เหล่านี้มีความรวดเร็ว เนื่องจากมีเส้นทางที่สั้นที่สุด
และล่าสุด กับวิกฤติการ COVID-19 ที่ทำให้ผู้บริโภคมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปสู่การใช้ชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) ซึ่งการปฏิสัมพันธ์กันของคนในสังคม จะใช้วิธีการเชื่อมโยงกันบนโลกออนไลน์เป็นส่วนใหญ่ ด้วยเหตุผลด้านสุขอนามัยซึ่งมีแนวโน้มที่จะพัฒนาวิธีใหม่ ไปในระดับที่ก้าวหน้ามากขึ้นเรื่อยๆ สิ่งหนึ่งที่เห็นคือมีการใช้ Social Media เพิ่มมากขึ้น และมีการพัฒนาแพลตฟอร์มใหม่เกิดขึ้นอย่างหลากหลาย
สิ่งเหล่านี้ยิ่งทำให้ความต้องการเชื่อมต่อไปยังศูนย์กลางแลกเปลี่ยนข้อมูลอินเทอร์เน็ตมีเพิ่มสูงขึ้น ซึ่ง Thailand IX ได้พัฒนาระบบโครงข่ายให้รองรับการเชื่อมต่อของผู้ให้บริการฯ ที่จะเพิ่มขึ้น ได้อย่างไม่จำกัด
Exchange ซื้อมา-ขายไปของคอนเทนต์ทั่วโลก จนเกิดตลาดต่างประเทศ
หากมองภาพให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น บริการดังกล่าวเป็นบริการแพลตฟอร์มชนิดหนึ่งที่มีทั้งคนที่ต้องการซื้อและคนที่ต้องการขาย ให้มารวมอยู่ในจุดเดียวกัน ถ้าจุดที่ให้บริการ Internet Exchange เจ้าใดมีชื่อเสียงมาก ก็จะมีทั้งผู้ซื้อซึ่งได้แก่ ISP และ ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ และผู้ขายซึ่งได้แก่ ผู้ให้บริการแอปพลิเคชันและคอนเทนต์ มาอยู่รวมกันใน Internet Exchange นั้นๆ ในปริมาณมาก ซึ่งในประเทศต่างๆ ก็จะมีผู้ให้บริการแลกเปลี่ยนข้อมูลรายหลักๆ อย่าง AMSTERDAM IX, Netherlands IX, London IX , Hong Kong IX, Japan IX, Equinix IX เป็นต้น ซึ่งบางแห่งมีสมาชิกเชื่อมต่อกันมากถึง 300 กว่ารายหรือเป็นแบนด์วิดท์มากกว่า 10 Tbps
ในประเทศไทย มีจำนวนผู้ให้บริการ IX ที่ถือใบอนุญาตของ กสทช. เป็นจำนวนกว่า 10 ราย โดย Thailand IX เป็น Internet Exchange รายหลักของประเทศที่มีการเชื่อมต่อกับสมาชิกในจำนวนมากที่สุดซึ่งนั่นหมายถึงความสามารถในการเข้าถึงแอปพลิเคชันและคอนเทนต์ที่ดีที่สุดในประเทศไทย
“เนื่องจาก Thailand IX เป็นบริการสำหรับเชื่อมโยงระหว่างผู้ประกอบการ แต่เราเปิดให้ผู้ใช้บริการในระดับองค์กรขนาดใหญ่ได้เชื่อมต่อเข้ามาเช่นกัน เพื่อการเข้าถึงแอปพลิเคชัน และคอนเทนต์เฉพาะด้าน อาทิ คอนเทนต์ด้านบันเทิง หรือเกม ซึ่งการเชื่อมต่อกับ Thailand IX โดยตรงจะทำให้การเข้าถึงข้อมูลทำได้อย่างมีประสิทธิภาพเทียบเท่าระดับของ ISP ” คุณอุบลพรรณ กล่าว
ปัจจุบันหน่วยงานราชการ ยังได้เริ่มเชื่อมต่อกับ Thailand IX เช่น เน็ตเวิร์กของ สป.อว. (สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ให้บริการอินเทอร์เน็ตกับมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ หรือการเชื่อมต่อระบบคลาวด์ของหน่วยงานภาครัฐ เพื่อการเข้าถึงข้อมูลและสนับสนุนการให้บริการกับภาคประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สร้างความเชื่อมั่นด้วย Connectivity ทั้งระบบเคเบิลใต้น้ำและภาคพื้นดิน
คุณอุบลพรรณ กล่าวเพิ่มเติมว่า ช่วงหลายปีที่ผ่านมา ผู้ให้บริการแอปพลิเคชันและคอนเทนต์รายใหญ่ของโลกหลายรายได้ขยายจุดเชื่อมต่อเข้ามายังประเทศในกลุ่มเอเชีย อาทิ Microsoft, Tencent, Facebook Amazon และ Google โดยปัจจุบันบางราย ได้เริ่มนำอุปกรณ์มาติดตั้งในประเทศไทย และบริษัทเหล่านี้ก็มีความต้องการเข้ามาเชื่อมต่อบนแพลตฟอร์ม Thailand IX ของ CAT
สำหรับ Internet Exchange ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น สิงคโปร์ถือว่ามีความแข็งแกร่งทางด้านการให้บริการทั้งเชิงพาณิชย์ เชิงธุรกิจและไอที รองลงมาคือ ประเทศมาเลเซีย ซึ่ง CAT ได้มีการพัฒนาศักยภาพ Thailand IX ให้เป็นตัวแทนของประเทศไทยและเชื่อมั่นว่าจะก้าวสู่การเป็น ASEAN Digital Hub ของภูมิภาคนี้ได้ในอนาคตอันใกล้
“ปัจจุบันสถานการณ์ด้าน ICT ภายในประเทศไทยดีขึ้น ทั้งโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลของรัฐบาลที่ได้ดำเนินการไว้ รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้าน ก็มีระบบเศรษฐกิจที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ปริมาณของความต้องการใช้งานอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว การมี Thailand IX จะทำให้โครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลของไทยและภูมิภาคแข็งเกร่งยิ่งขึ้นทั้งคุณภาพและต้นทุนในการให้บริการ ” คุณอุบลพรรณ กล่าวย้ำ
เชื่อมต่อ Thailand IX เพื่อต้นทุนที่ถูกกว่าการเชื่อมต่อในต่างประเทศ
สมัยก่อนผู้ให้บริการจะต้องไปดึงคอนเทนต์จากต่างประเทศ เช่น ประเทศสิงคโปร์ อเมริกา ญี่ปุ่น ถ้าประเทศไทยเป็นจุดดึงดูดให้บริษัทต่างชาติที่ทำกิจการด้านคอนเทนต์มาอยู่ในประเทศไทย ผู้บริโภคก็จะได้ประโยชน์เพิ่มมากขึ้น ราคาต่อ Mbps ถูกลง ซึ่งสามารถนำเงินจำนวนนั้นไปขยายแบนด์วิดท์เพิ่มมากขึ้น
ซึ่งค่าใช้จ่ายในการใช้บริการในปัจจุบันนั้น หากเป็นแบนด์วิดท์ในระดับพอร์ต 10 Gbps. จะมีราคาถูกกว่ามากเมื่อเทียบกับแบนด์วิดท์ที่ออกต่างประเทศ ดังนั้นเมื่อต้นทุนทางด้านอินเทอร์เน็ตถูกลง ผู้บริโภคก็จะได้ใช้แบนด์วิดท์เพิ่มมากขึ้น ได้สัมผัสการใช้งานอินเทอร์เน็ตที่มีประสิทธิภาพสูงและรวดเร็ว ประเทศเพื่อนบ้านก็จะหันมาใช้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมต่อข้อมูลเพิ่มมากยิ่งขึ้น
ความคาดหวังในการนำ Thailand IX ก้าวไปเป็นศูนย์กลางภูมิภาค
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DE) ได้สนับสนุน CAT ให้สามารถขยายบริการเคเบิลใต้น้ำและประเทศเพื่อนบ้านในโครงการ ASEAN Digital Hub ซึ่ง CAT ได้ดำเนินการเพื่อสนองนโยบายภาครัฐได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ จึงได้ยกระดับแพลตฟอร์ม Thailand IX เพื่อเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้านให้มาเจอกัน ผลคือ ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางภูมิภาคของการเชื่อมโยงอินเทอร์เน็ต ส่งผลประโยชน์ให้กับด้านไอซีที เช่น การใช้บริการดาต้าเซ็นเตอร์ ICT Solution และผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ เรากลายเป็นศูนย์กลางทางการเชื่อมต่อแล้ว จะส่งผลไปยังการเติบโตของเศรษฐกิจต่อไป
“ทางเราขอเชิญชวนผู้ประกอบการ มาร่วมกันใช้แพลตฟอร์ม Thailand IX เพราะประโยชน์ของบริการดังกล่าว จะสะท้อนกลับไปยังผู้บริโภค ทำให้ได้คุณภาพในการใช้งานอินเทอร์เน็ตดีขึ้น ภาครัฐจะช่วยได้ นั่นคือเรื่องของการเตรียมความพร้อมในการเปิดประเทศเพื่อดึงดูดนักลงทุนด้านดิจิทัลที่จะเข้ามาสู่ประเทศไทยทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน ความชัดเจนในเรื่องกฎหมายและนโยบายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการพัฒนาบุคลากรทางด้านไอซีที หากประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมต่อโทรคมนาคม แรงงานที่มีความเชี่ยวชาญเหล่านี้จะเป็นที่ต้องการของตลาดเป็นอย่างมาก ” คุณอุบลพรรณ กล่าวสรุปไว้
ที่มา:https://www.cattelecom.com/cat/siteContent/3850/275/Thailand+IX