Hero Image Grapchics

ข่าวสาร

Peering Asia 4.0: อีกหนึ่งเวทีที่แสดงศักยภาพของ Internet Exchange ที่เป็นกลางของประเทศไทย ในเวทีระดับโลก


หลายท่านเองก็น่าจะเริ่มรู้จักเกี่ยวกับ Peering Asia 4.0 ที่เราได้เกียรติในการเป็นเจ้าภาพในการจัดงานนี้ เมื่อวันที่ 2-3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา ณ Bangkok Convention Center โรงแรม Centara Grand @ centralwOrld ผ่านบทสัมภาษณ์ล่าสุดกับผู้บริหารของ Thailand IX ถึงความสำคัญของงานนี้กันบ้างแล้ว

แต่เราเชื่อว่าหลายท่านเองก็อยากเห็นบรรยากาศของงาน ว่าในงานนั้นเป็นอย่างไรบ้าง และมีสิ่งที่น่าสนใจอะไรเกี่ยวกับงานบ้าง วันนี้ Thailand IX ขออนุญาตพาท่านไปชมภาพบรรยากาศของงาน รวมถึงเนื้อหาต่าง ๆ ที่ได้จากงานนี้


การกลับมาของงาน Peering Asia ในรอบ 3 ปี

ภาพหมู่ของทีมผู้บริหารและเจ้าหน้าที่จาก Thailand IX ซึ่งประกอบด้วย คุณวิชัย ดีเจริญกุล (ซ้ายมือ), คุณไตรรัตน์ เจริญศักดิ์ (คนที่ 2 จากซ้ายมือ) และคุณเฉลิมเกียรติ สิรชัยรัตน์ ได้กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมงาน Peering Asia 4.0
ภาพหมู่ของทีมผู้บริหารและเจ้าหน้าที่จาก Thailand IX ซึ่งประกอบด้วย คุณสุรสิทธิ์ ประคุณหังสิต (ซ้ายมือ), คุณไตรรัตน์ เจริญศักดิ์ (คนที่ 2 จากซ้ายมือ) และคุณเฉลิมเกียรติ สิรชัยรัตน์ ได้กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมงาน Peering Asia 4.0

เมื่องาน Peering Asia 3.0 ในปี พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมานั้น ถือว่าเป็นงานสำคัญสำหรับ Thailand IX เนื่องจากเป็นครั้งแรกที่ Thailand IX ได้เข้าร่วมงานดังกล่าว โดยครั้งนั้น ได้เข้าร่วมในฐานะผู้สนับสนุนอาหารกลางวัน (Lunch Sponsor) และเป็นช่วงเวลาเดียวกันที่เราได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของสมาพันธ์ Asia-Pacific Internet Exchange Association (APIX) อย่างเป็นทางการ

ทว่า ในช่วงที่ผ่านมา นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 เป็นต้นมา การจัดงาน Peering Asia แบบพบหน้ากัน มีอันต้องยกเลิกไป เนื่องจากสภาวะการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 เกิดการ lockdown, การเว้นระยะห่าง (social distancing) และเฝ้าระวังการแพร่เชื้อโรคในทุกชั่วขณะ

อย่างไรก็ดี พ.ศ. 2565 เริ่มมีการผ่อนคลายนโยบายการป้องกันการแพร่ระบาดลง ทาง APIX จึงมองเห็นโอกาสในการจัดงานแบบเจอหน้ากันอีกครั้งหนึ่ง และด้วยเหตุนี้ จึงเป็นที่มาของงาน Peering Asia 4.0 ซึ่งปีนี้ เป็นปีที่เราได้รับเกียรติในการเป็นเจ้าภาพร่วมกับเพื่อนร่วมวงการ Internet Exchange อย่าง BBIX Thailand อีกด้วย

และนี่จึงเป็นโอกาสอันดีที่หาได้ไม่มากนัก เนื่องจากโอกาสที่เราจะได้มาเป็นเจ้าภาพของงาน มีค่อนข้างน้อยมาก เรียกได้ว่า 10 ปีมีหนเลยก็ว่าได้


เติมเต็มความรู้ สู่ตลาดประเทศไทย ด้วยวิทยากรจาก Thailand IX

ในช่วงเปิดงาน คุณวิชัย ดีเจริญกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานดิจิทัล บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT ร่วมกับคุณไตรรัตน์ เจริญศักดิ์ และ คุณเฉลิมเกียรติ สิรชัยรัตน์ เจ้าหน้าที่จากฝ่ายปฏิบัติการศูนย์ข้อมูลของ NT ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลธุรกิจ Thailand IX ได้กล่าวต้อนรับผู้ร่วมงานทุกท่าน

โดยเริ่มต้นงานในวันแรก Thailand IX ได้มีโอกาสขึ้นเวทีเพื่อเล่าถึงสถานภาพของอินเทอร์เน็ตในประเทศไทย โดยคุณสุรสิทธิ์ ประคุณหังสิต เจ้าหน้าที่วิศวกรเครือข่าย จาก Thailand IX ของเราเป็นผู้บรรยาย

ความหนึ่งจากการบรรยายนี้นั้น ได้มีการกล่าวถึงที่มาที่ไปของ Internet Exchange ในประเทศไทย รวมถึงจุดเริ่มต้นของ Thailand IX ในฐานะผู้ให้บริการ Internet Exchange ที่เป็นกลางรายแรกของประเทศไทย จนต่อมา มีผู้ประกอบการในสายงานด้าน Internet Exchange มากขึ้นเรื่อย ๆ และนั่นก็สะท้อนให้เห็นถึงปริมาณความต้องการทางอินเทอร์เน็ตของบ้านเราที่มีสูงขึ้นเรื่อย ๆ ตามไปด้วย ไม่ว่าจะมาจากเครือข่ายโทรศัพท์ Wi-Fi หรือผ่าน Fiber Optics แบบ Fiber to the Home (FTTH) หรือ Fiber to the Building (FTTB)

และด้วยเหตุนี้ บริการ Internet Exchange จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ในการตอบสนองความต้องการของผู้ใช้งานทั่วไป และผู้ใช้งานระดับองค์กร ให้สามารถสื่อสารได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้นนั่นเอง


โอกาสของสมาชิก APIX

ขึ้นชื่อว่างานนี้ เป็นงานที่มีสมาชิกจาก APIX เข้าร่วมงานจากหลากหลายประเทศ ทั่วพื้นที่เอเชีย-แปซิฟิค และเป็นงานแรก ๆ ของ APIX ที่จัดขึ้นหลังจากผ่านพ้นวิกฤติ COVID-19 ไปได้ไม่นาน ทำให้งานนี้เป็นงานที่ได้รับกระแสตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้เข้าร่วมงาน ไม่ว่าจะมาจากประเทศไหนก็ตามแต่

โดยนอกเหนือจากการนำเสนอจากเราแล้ว ยังมีแขกรับเชิญที่ขึ้นบรรยายจากหลายองค์กร เช่น Telehouse Thailand, JPIX จากญี่ปุ่น, Google, Kentik หรือแม้แต่ CMC Telecom จากเวียดนาม ที่มาแบ่งปันประสบการณ์ รวมถึงสิ่งที่พวกเขาได้เรียนรู้มา เพื่อประยุกต์ใช้ในการดำเนินธุรกิจ Internet Exchange ได้ดียิ่งขึ้นด้วย

นอกจากนี้ งาน Peering Asia 4.0 ยังเป็นพื้นที่การสนทนาแลกเปลี่ยนจากเพื่อนร่วมวงการ Internet Exchange จากทั่วเอเชีย-แปซิฟิค แปลว่า มางานนี้พูดศัพท์ทางเทคนิคเมื่อไร การันตีได้เลยว่า พูดกันรู้เรื่องกันหมดแน่นอน


เชื่อมต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

นอกเหนือจากผู้เข้าร่วมงานจะได้สาระความรู้กลับไปจากงานแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้จากงานนี้ นั่นก็คือมิตรภาพที่ไม่สามารถทดแทนได้ด้วยการพูดคุยสนทนาผ่านโปรแกรม video conference ใด ๆ

แน่นอนว่าในฐานะที่ Thailand IX เป็นเจ้าภาพร่วมของงานนี้ เราก็ได้จัดสรรสถานที่ในการทำกิจกรรมกลางแจ้งที่การันตีได้ว่า ผู้เข้าร่วมงานจะสามารถซึมซับความเป็นไทยจากกิจกรรมเหล่านี้ได้ รวมถึงสามารถเพลิดเพลินกับกิจกรรมเหล่านี้ได้ทุกชั่วขณะที่ได้ทำกิจกรรมกลางแจ้งนี้ได้ และสร้างมิตรภาพระหว่างผู้ร่วมงานด้วยกันให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

และนี่ถือว่าเป็นหนึ่งในสิ่งที่ยืนยันถึงความสำเร็จในการจัดงาน Peering Asia 4.0 ที่จัดครั้งแรกในประเทศไทย ซึ่งเราหวังว่า เราจะได้พบกันใหม่ในโอกาสหน้า กับ Peering Asia 5.0 ที่ครั้งนี้จะไปจัดถึงกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้นั่นเอง ซึ่งภาพบรรยากาศและกิจกรรมภายในงานจะเป็นอย่างไร Thailand IX จะรายงานให้ทราบอีกครั้งหนึ่ง