Hero Image Grapchics

ข่าวสาร

CAT เร่งเครื่องยกระดับเคเบิลใต้น้ำ ผลักดันศักยภาพไทยก้าวสู่ศูนย์กลางดิจิทัลอาเซียน (ASEAN Digital Hub)


วันนี้ (21 มิถุนายน 2562) พันเอก สรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT และ นางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเกี่ยวกับ “ความคืบหน้าการเร่งดำเนินโครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ กิจกรรมที่ 2 : เพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศสู่การเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนข้อมูลดิจิทัลของภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Digital Hub)” ณ CAT First Class Lounge ชั้น 8 เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ

       

ซึ่งในขณะนี้ทุกกิจกรรมย่อยได้มีความคืบหน้าที่สอดคล้องกัน มุ่งสู่เป้าหมายผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางข้อมูลดิจิทัลอาเซียน และส่งเสริมศักยภาพของไทยให้มีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนผ่านของอาเซียนสู่ยุคดิจิทัล  โดยกิจกรรมย่อยที่ดำเนินการใกล้แล้วเสร็จ คือ

กิจกรรมย่อยที่ 1 : การขยายความจุโครงข่ายภายในประเทศเชื่อมโยงไปยังชายแดน เพื่อเชื่อมต่อประเทศกัมพูชา ลาว และเมียนมา รวมความจุที่ขยายเพิ่ม 2300 Gbps อยู่ระหว่างการทดสอบและติดตั้งอุปกรณ์ใน 151 สถานีทั่วประเทศ

กิจกรรมย่อยที่ 2 : การขยายความจุระบบโครงข่ายเคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศที่มีอยู่ในเส้นทางสิงคโปร์ จีน (ฮ่องกง) และสหรัฐอเมริกา จำนวน 3 ระบบ คือ AAG, APG, FLAG โดยรวมความจุที่ขยายเพิ่ม 1,770 Gbps ซึ่ง CAT ได้ดำเนินการครบถ้วนแล้ว สามารถรองรับปริมาณทราฟิกทั้งประเทศ ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 7,512 Gbps รวมถึงการใช้งานที่จะเพิ่มในอนาคต ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เกิดการสร้างงานและธุรกิจใหม่ สร้างโอกาสในการศึกษาและสาธารณสุขที่เท่าเทียมกัน ช่วยลดต้นทุนค่าใช้บริการอินเทอร์เน็ตลดลง เพิ่มโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลและบริการภาครัฐที่เป็นประโยชน์ 

กิจกรรมย่อยที่ 3 (โดย CAT เป็นผู้ดำเนินการ) สำหรับกิจกรรมย่อยที่ 3 : การลงทุนก่อสร้างเคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศระบบใหม่ เพื่อเชื่อมโยงประเทศในเอเชียแปซิฟิก ได้แก่ สิงคโปร์ ฮ่องกง ญี่ปุ่น ไทย จีน เวียดนาม มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเกาหลีใต้ งบประมาณ 2,000 ล้านบาท ล่าสุดผ่านการเสนอต่อ ครม.รับทราบและอยู่ระหว่างดำเนินการ โดยคาดว่าจะมีการลงนามในเอกสารข้อตกลงระหว่างภาคีสมาชิกภายในเดือนกรกฎาคม 2562 และลงนามสัญญาจ้างภายในเดือนสิงหาคม 2562 ซึ่งจะก่อสร้างแล้วเสร็จและสามารถทดสอบระบบรวมถึงส่งมอบสิทธิการใช้งานให้กระทรวงดิจิทัลฯ ภายในปี 2564

     

ทั้งนี้ เมื่อการก่อสร้างระบบเคเบิลระบบใหม่แล้วเสร็จ จะเพิ่มเสถียรภาพความมั่นคงในการเชื่อมต่อของภูมิภาคอาเซียนและมีส่วนช่วยสนับสนุนการเป็น ASEAN Digital Hub ของไทย โดยจะเพิ่มปริมาณความจุและเส้นทางเชื่อมโยงผ่านระบบเคเบิลใต้น้ำไปจีนและฮ่องกงเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งเส้นทาง ส่งผลให้ประเทศไทยมีโครงข่ายระหว่างประเทศ โดยเฉพาะระหว่างไทยกับจีนมีความหลากหลายมั่นคงและมีเสถียรภาพมากขึ้น สามารถรองรับความต้องการใช้งานที่จะเพิ่มสูงขึ้นจากการเติบโตทางเศรษฐกิจ การเพิ่มความจุและจัดสร้างเคเบิลใต้น้ำระบบใหม่ดังกล่าว จึงนับเป็นการเชื่อมโยงกลุ่มประเทศอาเซียน (ไทย+CLM) กับประเทศจีน (ฮ่องกง) ทั้งทางบกและทางทะเล ยกระดับประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศเศรษฐกิจสำคัญของภูมิภาค   

นอกจากนี้ เคเบิลใต้น้ำระบบใหม่ได้ออกแบบให้มีจุดเชื่อมต่อกับประเทศไทยที่สถานีเคเบิลใต้น้ำชลี 3 ศรีราชา ซึ่งอยู่ในบริเวณพื้นที่โครงการ Digital Park Thailand โดยจากจุดเชื่อมต่อนี้ สามารถเชื่อมต่อตรง (Direct Route) จากประเทศไทยไปยังฮ่องกงและสิงคโปร์ จึงเป็นอีกหนึ่งจุดแข็งของโครงการ Digital Park Thailand ซึ่งเป็นพื้นที่ส่งเสริมพิเศษตามนโยบาย EEC สำหรับรองรับนักลงทุนด้านดิจิทัลประเทศไทยและจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนทำธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับเทคโนโลยีต่าง ๆ เช่น 5G, AI, Cloud, IoTs, Smart City, Big Data รวมถึงเป็นจุดสนใจสำหรับผู้ประกอบกิจการคอนเทนต์ระดับโลก

โดยประเทศไทยตั้งอยู่ในจุดภูมิศาสตร์ที่เหมาะสมต่อการเป็นศูนย์กลางการติดต่อสื่อสารสำหรับกลุ่มประเทศอาเซียนตอนบน ได้แก่ กัมพูชา ลาว และเมียนมา ซึ่งประเทศเหล่านี้มีการเติบโตของอินเทอร์เน็ตทราฟิกสูง อีกทั้งประเทศไทยมีการใช้งานดิจิทัลคอนเทนต์จำนวนมากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ดังนั้น เมื่อรวมปริมาณอินเทอร์เน็ตทราฟิกและดิจิทัลคอนเทนต์ (Digital Content) เข้าด้วยกัน นับว่าเป็นโอกาสอันดีที่ประเทศไทยจะสามารถดึงดูดความสนใจของผู้ประกอบกิจการคอนเทนต์ (Content Provider)รายใหญ่ให้มาตั้งฐานข้อมูลในประเทศไทย ใช้งานผ่านโครงข่ายเคเบิลใต้น้ำที่ได้ขยายความจุไว้พร้อมรองรับ อันจะทำให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาศักยภาพก้าวสู่การเป็น ASEAN Digital Hub ตอนบนได้อย่างมั่นคง