ครม.รับทราบความคืบหน้าลงทุนโครงข่ายเคเบิลใต้น้ำเส้นใหม่-โครงข่ายอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศสู่ ASEAN Digital Hub
รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติรับทราบตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) เสนอ ในการรายงานความคืบหน้าการลงทุนการก่อสร้างระบบโครงข่ายเคเบิลใต้น้ำเส้นใหม่ และโครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ กิจกรรมที่ 2 การเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศ สู่การเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนข้อมูลดิจิทัลของภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Digital Hub)
สำหรับความคืบหน้าโครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ กิจกรรมที่ 2 การเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศ สู่การเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนข้อมูลดิจิทัลของภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Digital Hub) ประกอบด้วย 3 กิจกรรมย่อย สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. การจัดหาอุปกรณ์เพิ่มความจุโครงข่ายเชื่อมโยงไปชายแดนฯ ความจุรวม 2,300 Gbps บมจ. กสท โทรคมนาคม ได้ลงนามในสัญญาจ้าง เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2561 ขณะนี้อยู่ระหว่างตรวจนับอุปกรณ์ก่อนนำไปติดตั้ง 151 สถานีทั่วประเทศ ทั้งนี้ คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จในเดือนกันยายน 2562 ซึ่งเป็นไปตามแผนที่กำหนด (ผลดำเนินการคิดเป็น 68%)
2. การขยายความจุโครงข่ายเคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศระบบที่มีอยู่ 1,770 Gbps บมจ. กสท โทรคมนาคม ได้ขยายความจุและส่งมอบสิทธิการใช้งานแก่ ดศ. แล้ว เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2561 (ผลดำเนินการคิดเป็น 98%)
3. การร่วมก่อสร้างโครงข่ายเคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศระบบใหม่ เชื่อมต่อประเทศไทยกับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ความจุเบื้องต้น รวม 200 Gbps มีความคืบหน้าดังนี้
- ด้านการลงทุน บมจ. กสท โทรคมนาคม ได้พิจารณาแนวทางการลงทุนในระบบเคเบิลใต้น้ำ ASIA Direct Cable (ADC) ซึ่งจะมีการเชื่อมโยงตรงระหว่างประเทศสิงคโปร์ ฮ่องกง และญี่ปุ่น เป็นเส้นทางหลัก (Trunk) และมีการต่อเชื่อม Branch กับประเทศไทย จีน เวียดนาม มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเกาหลีใต้ โดยคาดว่าจะมีการลงนามในเอกสารข้อตกลงระหว่างภาคีสมาชิกภายในเดือนพฤษภาคม 2562 และลงนามสัญญาจ้างภายในเดือนมิถุนายน 2562 ซึ่งคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปี 2563 และสามารถทดสอบระบบรวมถึงส่งมอบสิทธิการใช้งานให้ ดศ. ภายในปี 2564
ระบบ ADC ถูกออกแบบด้วยเทคโนโลยีให้มีเส้นทางเสมือนการเชื่อมต่อตรง (Direct Route) โดยมีจุดขึ้นบกที่สถานีเคเบิลใต้น้ำชลี 3 ศรีราชา ประเทศไทยไปยังเขตบริหารพิเศษฮ่องกง และระหว่างประเทศไทยไปยังสิงคโปร์ โดยไม่จำเป็นต้องวิ่งอ้อมผ่านประเทศอื่น จึงมีส่วนช่วยสนับสนุนโครงการ Digital Park ตามนโยบาย EEC ของประเทศไทย
- ด้านงบประมาณ งบประมาณลงทุนที่ใช้ในการก่อสร้างระบบ ADC ในส่วนของ บมจ. กสท โทรคมนาคม คาดว่าอยู่ที่ประมาณ 60-65 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งทุกภาคีสมาชิกจะต้องร่วมลงทุนในเส้นทางหลักคิดเป็น 6.25% ของค่าก่อสร้างเส้นทางหลักทั้งหมดและส่วนของการเชื่อมต่อที่ไม่ใช่เส้นทางหลัก ภาคีสมาชิกจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างเองทั้งหมด
ในส่วนของการขอรับการจัดสรรงบประมาณ ดศ. จะขอรับการจัดสรร งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 1,000 ล้านบาท เพื่อทดแทนงบประมาณเดิมที่ถูกพับไปตามพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ.2561 และได้ขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 จำนวน 1,000 ล้านบาทไว้แล้ว
- ด้านกฎหมาย การลงทุนระบบเคเบิลใต้น้ำ ADC เป็นการดำเนินการตามกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งทรัพย์สินที่ได้จากการดำเนินงาน ไม่สามารถโอนให้กับ ดศ. ได้ แต่สามารถส่งมอบสิทธิการใช้งานได้
- ด้านประโยชน์ที่ได้จากระบบ ADC ASEAN Digital Hub จำเป็นต้องมีเส้นทางที่หลากหลาย มีเส้นทางที่เชื่อมตรง (Direct Route) ไปยังปลายทางสำคัญ หรือ Hub ภูมิภาคอื่นอย่างมีประสิทธิภาพ ใช้เวลาน้อยที่สุด โดยระบบ ADC นั้น มีปลายทางไปยังประเทศที่เป็น Hub ในภูมิภาคใกล้เคียงหลายประเทศ เช่น จีน (ฮ่องกง) สิงคโปร์ ญี่ปุ่น
ทั้งนี้ ระบบ ADC เป็นระบบเคเบิลใต้น้ำที่ติดต่อตรงกับประเทศต่าง ๆ เช่น จีน (ฮ่องกง) เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น อีกทั้งเป็นระบบที่สามารถเข้าถึงตรงได้จากพื้นที่ Digital Park Thailand ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ บมจ. กสท โทรคมนาคม อยู่ระหว่างเชิญชวนนักลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนทำธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับเทคโนโลยีต่าง ๆ เช่น 5G, AI, Cloud, IoTs, Smart City, Big Data ซึ่งการที่ประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคด้านอุตสาหกรรมดิจิทัลดังกล่าวได้นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีระบบการสื่อสารทั้งในประเทศและระหว่างประเทศที่เพียงพอและหลากหลาย สามารถเชื่อมต่อกับประเทศต่าง ๆ ในภูมิถาค เช่น เมียนมา กัมพูชา ลาว เวียดนาม จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ได้ด้วยความจุช่องสัญญาณและเส้นทางสำรองที่เพียงพอ
เมื่อการก่อสร้างระบบ ADC แล้วเสร็จ (คาดว่าในอีก 2-3 ปีข้างหน้า) จะทำให้ประเทศไทยมีปริมาณความจุและเส้นทางเชื่อมโยงผ่านระบบเคเบิลใต้น้ำไปจีนและฮ่องกงเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งเส้นทาง สามารถรองรับความต้องการใช้งานที่จะเพิ่มสูงขึ้นจากการเติบโตทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้โครงข่ายระหว่างประเทศของไทย โดยเฉพาะระหว่างไทยกับจีนมีความหลากหลาย มีความมั่นคงและมีเสถียรภาพมากขึ้น ซึ่งเมื่อรวมกับการดำเนินโครงการ ASEAN Digital Hub กิจกรรมย่อยที่ 1 และ 2 ที่มีการขยายความจุโครงข่ายเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน และการขยายความจุโครงข่ายเคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศของระบบที่มีอยู่เดิมแล้ว จะทำให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในศูนย์กลางของการเชื่อมต่อของภูมิภาคพร้อมสู่การเป็น ASEAN Digital Hub อย่างเต็มรูปแบบในอนาคต
อย่างไรก็ตาม การที่ประเทศไทยจะเป็น ASEAN Digital Hub ได้อย่างสมบูรณ์ ยังมีอีกหลายปัจจัยที่เอื้อต่อการดึงดูด Content Provider และต้องได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐอื่น ๆ เช่น มาตรการกำหนดอัตราค่าใช้ไฟฟ้าหรืออาจได้รับการชดเชยจากภาครัฐที่สามารถแข่งขันได้เมื่อเทียบกับประเทศอื่น รวมถึงมาตรการจูงใจทางภาษี